ข่าวสาร

เป็นทาสแมวต้องระมัดระวัง โรคผิวหนังที่มากับเจ้าเหมียว

โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา หรือ Ringworm เป็นโรคที่พบได้บ่อยกับแมวโดยเฉพาะอย่างยิ่งแมวที่มีขนยาวอย่าง เช่น พันธุ์เปอร์เซีย เชื้อราที่ก่อโรคเกิดจากเชื้อราชนิดต่างๆ คือ Microsporum gypseum, Microsporum canisTrichophyton mentagrophyte โดยเชื้อรา Microsporum canis จัดเป็นเชื้อราที่ก่อโรคชนิดหลักในแมว โดยเส้นใยของเชื้อราจะบุกรุกทำลายเส้นขน และรุมขุมขน ทำให้เส้นขนอ่อนแอและแตกหักได้ง่าย รอยโรคที่พบจะขึ้นอยู่กับการกระจายตัวของเชื้อราและสปอร์ พบได้ตั้งแต่ขนร่วงเล็กน้อยหรือขนบางลงกว่าปกติพบขนร่วงเป็นวงหรือเป็นปื้นที่มีขอบหนาไปจนถึงขนร่วงเป็นหย่อมๆ กระจายตามตัวทำให้ผิวหนังและเส้นขนไม่สวยงามและโน้มนำให้เกิดการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนที่ผิวหนังตามมาได้


ในแมวปกติบางตัวสามารถพบเชื้อราได้บนตัวแมวโดยไม่ก่อให้เกิดรอยโรค ส่วนมากแมวที่อายุยังน้อย แมวแก่ แมวป่วย แมวเครียด มักจะพบความผิดปกติ ทั้งนี้เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ไม่แข็งแรง ปกติแมวทั่วไปสามารถติดเชื้อราก่อโรคได้จากการสัมผัสกับแมวป่วยโดยตรง หรือสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อราที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสปอร์ของเชื้อราสามารถอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน รอยโรคหลักๆที่สามารถพบได้คือ ขนร่วงแหว่งเป็นวงกลม ขอบเรียบ บางรายอาจจะสะเก็ดหรือมีอาการคันร่วมด้วย

                   


การตรวจวินิจฉัยแยกแยะของโรคเชื้อรานั้นวินิจฉัยเบื้องต้นจากลักษณะรอยโรคบนผิวหนัง การตรวจวินิจฉัยตัวอย่างเส้นขนหรือเนื้อเยื่อใต้กล้องจุลทรรศน์ การตรวจด้วยแสงฟลูออเรสเซนส์ และการเพาะเชื้อรา ทำได้โดยนำเส้นขน หรือสะเก็ดผิวหนังบริเวณรอยโรคของสัตว์มาเพาะเชื้อราในอาหารเลี้ยงเชื้อราที่เฉพาะสำหรับเชื้อราผิวหนัง (DTM test) ซึ่งจะเปลี่ยนสีเมื่อมีเชื้อราในกลุ่มก่อโรคขึ้น 


การรักษาเชื้อราที่ผิวหนังของแมวสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การใช้ยากินฆ่าเชื้อรา ยาทาเฉพาะที่ ยาจุ่มตัวหรือแชมพูยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งการใช้ยาควรอยู่ภายใต้ดุลพินิจของสัตวแพทย์ การเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับลักษณะความรุนแรง รอยโรค อายุของสัตว์ เป็นต้น เชื้อราที่ผิวหนังของแมวจัดเป็นความผิดปกติที่สำคัญ ดังนั้นควรควบคุมโรคโดยการรักษาทั้งบนตัวแมวและทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่แมวอยู่อาศัย เนื่องจากสปอร์เชื้อราสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นระยะเวลานาน และที่สำคัญเชื้อราผิวหนังของแมวกลุ่มนี้ยังสามารถติดต่อสู่คนเลี้ยง โดยทำให้คนเลี้ยงสามารถแสดงอาการรอยโรคทางผิวหนังได้


ซึ่งโดยปกติแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีการแพร่โรคมายังคนได้ต่ำ แต่เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ชอบคลุกคลีใกล้ชิดกับเจ้าของ ทำให้มีโอกาสนำเชื้อโรคบางชนิดมาสู่คนได้ เช่นแบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มแม่ที่ตั้งครรภ์ ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ หรืออยู่ในภาวะถูกกดภูมิคุ้มกัน จุดสำคัญหลักๆ ที่มักเป็นเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อจากแมวมายังคน ได้แก่ การสัมผัสสิ่งขับถ่ายโดยตรงของแมว จากหมัดของแมว การโดนกัดและข่วน รวมถึงการสัมผัสขนหรือผิวหนังที่ติดเชื้อจากน้องแมว


ดังนั้นสิ่งง่ายๆ ที่ผู้เลี้ยงแมวควรปฏิบัติมีดังนี้ 

- ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากสัมผัสแมว  

- พาแมวไปตรวจสุขภาพและให้วัคซีนตามโปรแกรมที่กำหนด และการป้องกันปริสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด

- หากโดนแมวกัดและข่วน ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและใส่ยา และรีบไปพบแพทย์ 

- ไม่ควรให้แมวมาเลียตามร่างกาย และใช้ภาชนะใส่อาหารร่วมของคน 

- ควรเลี้ยงแบ่งแยกเป็นสัดส่วนและไม่ปล่อยให้ออกไปคลุกคลีกับสัตว์นอกบ้าน 

- กำจัดสิ่งขับถ่ายของน้องแมว โดยการใส่ถุงมือและล้างมือทุกครั้ง รวมทั้งการทำความสะอาดถาดรองสิ่งขับถ่ายบ่อย ๆ และดูแลเด็ก ๆ ไม่ให้เด็กเล่นทรายที่มีสิ่งขับถ่ายของแมว


บทความโดย

สพ.ญ.พัชรนันท์ เทพส่ง (หมอส้มปริง)


โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4
Vet 4 Animal Hospital
Tel 02-119-4571-2 (สาขาสุขุมวิท)
Line: @vet4.suk31


ย้อนกลับ