ข่าวสาร

เบ่งแทบตาย..ฉี่ยังไงก็ไม่ออก

หากคุณเจ้าของสังเกตเห็นถึงพฤติกรรมการปัสสาวะของเจ้าเหมียวที่เปลี่ยนไป เช่น เบ่งปัสสาวะนาน เดี๋ยวเข้าเดียวออกกระบะทราย ปัสสาวะปนเลือด ครางด้วยความเจ็บปวดเมื่อเบ่งปัสสาวะ หรืออาจเห็นเจ้าเหมียวเลียอวัยวะเพศตัวเองอยู่บ่อยครั้ง อาการเหล่านั้นอาจบ่งบอกถึง โรค Feline Lower Urinary Tract Disease (FLUTD) หรือ โรคระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ซึ่งเป็นความผิดปกติที่มักพบได้บ่อยในแมว


สาเหตุการเกิดโรค

         ระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างประกอบด้วย กระเพาะปัสสาวะ ท่อทางเดินปัสสาวะ เมื่อเกิดการอุดตันโดยตะกอนในน้ำปัสสาวะ หรือนิ่ว มักก่อให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบของเนื้อเยื่อเหล่านั้นได้                                 


ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดความนิ่วและตะกอนมีดังนี้

1.ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ภาวะที่ปัสสาวะเป็นกรดหรือด่างที่มากเกินไปมักเหนี่ยวนำทำให้เกิดผลึกนิ่วชนิดต่างๆ ไปอุดตันทางเดินปัสสาวะได้

2.ความเข้มข้นและปริมาณของปัสสาวะ เมื่อเจ้าเหมียวกินน้ำน้อยเกินไปทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง ผลึกตะกอนก่อตัวขึ้น

3.การได้รับแร่ธาตุบางชนิดที่มากจนเกินไปเช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โน้มนำให้แร่ธาตุเหล่านี้เกิดการจับตัวและตกตะกอนได้

4.ความเครียดกระบะทรายไม่พอกระบะทรายสกปรก แน่นอนเมื่อห้องน้ำสกปรกใครๆ ก็ไม่อยากเข้าห้องน้ำนั้น เจ้าเหมียวก็เช่นกัน ทำให้เจ้าเหมียวมักกลั้นปัสสาวะ และปัสสาวะไม่เป็นที่ได้

                 

                              


อาการ

         อาการทั่วไปที่มักพบได้บ่อยคือ สังเกตเห็นพฤติกรรมการขับถ่ายปัสสาวะที่ผิดปกติไป  นั่งเบ่งปัสสาวะบ่อยๆ ร้องกระวนกระวาย ปัสสาวะไม่สุด เข้าออกกระบะทรายบ่อย ปัสสาวะกระปริบกระปรอยหรือปนเลือด กระเพาะปัสสาวะเต่งและขยาย ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน และอาจรุนแรงจนสัตว์อยู่ในภาวะโคม่าจนถึงเสียชีวิตได้เนื่องจากมีของเสียและโพแทสเซียมคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือดที่มากเกินไป


การรักษา-วิธีรักษา

ในเบื้องต้นสัตวแพทย์จะทำการสวนระบายปัสสาวะที่คั่งค้างโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเจ็บปวด และระบายของเสียพร้อมปัสสาวะออกมา ทำการคาท่อปัสสาวะไว้เพื่อให้แมวได้ขับถ่ายปัสสาวะที่ง่ายขึ้น สะดวกต่อการแก้ไขปัญหาหากมีตะกอนต่างๆ มาอุดในท่อทางเดินปัสสาวะอีก ระหว่างนั้นเริ่มรักษาทางยา และเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจสอบการติดเชื้อ ความเข้มข้น ความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ ตรวจหาตะกอนผลึกนิ่วต่างๆ สาเหตุของการเกิดปัสสาวะไม่ออกในครั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการรักษาในต่อไป


บทความโดย

สพ.ญ.ณัฐชยา อนันตะ (หมอเอ๊ะ)

โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 (24 ชั่วโมง)
Tel : 02-953-8085
Line : http://line.me/ti/p/~@vet4
Website : www.vet4hospital.com
Map : https://goo.gl/maps/h5xR4waakFD2

ย้อนกลับ