ข่าวสาร

พืชใกล้ตัวอาจมีพิษกับสัตว์เลี้ยงท่านได้


พืชใกล้ตัวที่อาจเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ แต่ในทางกลับกันก็เป็นอันตรายกับสัตว์เลี้ยงท่านได้เช่นกัน มาดูกันว่ามีต้นไม้อะไรบ้าง


ว่านหางจระเข้

             ประโยชน์ในมนุษย์ วุ้นของว่านสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดแผล แผลที่แสบร้อนจากการโดนไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก นั่นเป็นเพราะว่านหางจระเข้มีสารที่ช่วยสมานแผลได้นั่นก็คือ Aloctin A นับเป็นสารที่มีมากในทุกส่วนของต้น  แต่หารู้ไม่ เมื่อสัตว์เลี้ยงกินวุ้นเข้าไปล่ะก็ จะได้รับสารอีกชนิดในพืชชนิดนี้ ที่ชื่อว่า Sarpronin  จะทำให้เกิดภาวะระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร อาเจียน ท้องเสีย ตัวสั่นเกร็ง ปัสสาวะเปลี่ยนสีได้


บอนสี

            หลายๆบ้านปลูกบอนสีไว้เพื่อความสวยงาม แต่ในบอนสีเราพบว่ามีสารแคลเซียมออกซาเลตอยู่ และความเป็นพิษนั้นสามารถพบได้ทุกส่วนของต้นบอนสี และถ้าหากสัตว์เลี้ยงทานไป จะระคายเคืองช่องปาก ลำคอ และระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดน้ำลายไหล อาเจียน กลืนลำบาก


ดอกลินลี่

            เป็นดอกไม้ที่มักถูกนำมาประดับภายในบ้าน หากสุนัขหรือแมวได้รับประทานเข้าไปเพียงนิดเดียว แม้เพียงกลีบดอกหนึ่งกลีบหรือสองกลีบ รวมทั้งการกลืนเกสรดอกไม้ หรือ เลียน้ำจากแจกัน ก็เพียงพอทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้


ไฮเดรนเยีย

            ดอกไม้ชนิดนี้เป็นที่นิยมในหมู่แม่บ้าน เพราะเมื่อนำมาตกแต่งบ้านปักแจกันจะสวยงามมาก แต่ภายใต้ความสวยงามนั้นเราพบสาร Cyanogenic glycoside ซึ่งเป็นพิษแก่สุนัขและแมว หากทานเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร พบภาวะอาเจียน ท้องเสียได้


ต้นชวนชม

            เป็นต้นไม้ที่ปลูกง่ายในเมืองประเทศไทย  แต่มักพบสารที่ชื่อว่า glycoside ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุนัขและแมว หากได้เผลอกินดอกเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบอาหาร อาเจียน ปวดท้อง กล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจเต้นช้าลง ซึ่งอาจเสียชีวิตได้


พลูด่าง

            พลูด่าง จัดเป็นไม้เลื้อยที่นิยมนำมาประดับบ้านและโต๊ะทำงานเพื่อให้ได้บรรยากาศร่มรื่น แต่ก็ควรเก็บไว้ให้ห่างจากสุนัขและแมว  เพราะพิษในพลูด่างสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองที่รุนแรง ถ้าเผลอกินเข้าไป เพราะมีการเผาไหม้อย่างรุนแรง เกิดภาวะน้ำลายหลั่งมากผิดปกติ อาเจียน และกลืนอาหารลำบาก


บทความโดย


น.สพ.พีรสุทธิ์ เพียรพิจิตร (หมอเอด)

สัตวแพทย์คลินิกโรคหัวใจและทางเดินหายใจ

โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4

โทร 02-953-8085-6 หรือ Line @vet4

ย้อนกลับ