โภชนาการสำหรับแมวสูงวัย

การดูแลใส่ใจในเรื่องโภชนาการและการมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นทำให้อายุขัยของสุนัขและแมวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาซึ่งแมวมักมีอายุมากกว่าสุนัขและเรามักพบเห็นแมวอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปได้มากขึ้น การจัดการทางโภชนาการที่ดีแสดงให้เห็นถึง การชะลอ บรรเทา แม้กระทั่งป้องกันการเกิดโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของร่างกายซึ่งมีผลต่ออายุขัยของสัตว์ โรคที่เกิดขึ้นในแมวมีความสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคข้อเสื่อม โรคเบาหวาน ภาวะไทรอยด์สูง ซึ่งจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในแมวที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป และมักจะแสดงอาการให้เห็นก็ต่อเมื่อโรคได้ดำเนินไปในระยะท้ายๆ


อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีในแมวสูงวัยจะต้องมีการผสมผสานสารต่างๆเพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคในวัยชรา คำแนะนำทางโภชนาการสำหรับแมวสูงวัย จะต้องคำนึงถึงสายพันธุ์และผลกระทบทางด้านสรีรวิทยา รวมถึงการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย และสารอาหารต่างๆที่ช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคในแมวสูงวัย แม้ว่าอาหารสำหรับแมวสูงวัยจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่การมีสุขภาพที่ดีได้นั้นต้องเริ่มตั้งแต่ลูกสัตว์อายุน้อย โดยเฉพาะในแมวที่ทำหมันแล้ว จะต้องได้รับอาหารที่มีสัดส่วนที่ถูกต้องเพื่อให้แมวมีรูปร่างที่สมส่วนไปตลอดชีวิต ซึ่งสูตรอาหารสำหรับแมวสูงวัย ควรมีความพิถีพิถันในเรื่องความน่ากินของอาหาร มีการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ มีกลิ่นหอม มีขนาดและเนื้อสัมผัสที่ดี แมวจะต้องได้รับน้ำสะอาดที่เพียงพออยู่ตลอดเวลา ดังนั้นตำแหน่งการวางชามน้ำชามอาหารก็มีความสำคัญสำหรับแมวสูงวัยเช่นกัน


   


     ความต้องการสารอาหารในแมวสูงวัย

     ด้านพลังงาน

แมวสูงวัยจะมีมวลของกล้ามเนื้อลดลง ดังนั้นการเผาผลาญพลังงานของร่างกายจึงลดลงตามมวลของกล้ามเนื้อ ทำให้ความต้องการพลังงานจะลดลงตามอายุ แต่จากรายงานพบว่าแมวอายุมากกว่า 12 ปี จำนวน 1 ใน 3 นั้นจะมีความสามารถในการย่อยอาหารได้ลดลง โดยเฉพาะการย่อยโปรตีนและไขมัน ดังนั้นอาหารสำหรับแมวสูงวัยจึงไม่ควรมีพลังงานที่ลดลงแต่ควรได้รับพลังงานที่เหมาะสมกับสภาพของร่างกาย

-          แมวโต (มีกิจกรรมปานกลาง) จะต้องได้รับพลังงาน 77.6 น้ำหนัก 0,711 (KcalME/kg)

-          แมวโต (มีกิจกรรมสูง) จะต้องได้รับพลังงาน 93 น้ำหนัก 0,711 (KcalME/kg)

-          แมวอ้วน จะต้องได้รับพลังงาน 62 น้ำหนัก 0,711 (KcalME/kg)


      คะแนนร่างกายจะเป็นตัวชี้วัดการได้รับพลังงานที่เพียงพอในแมว ซึ่งจะบ่งบอกถึงการเกิดโรค หรืออาการทางคลินิกได้ 


            


แมวเป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มของสัตว์กินเนื้อซึ่งแตกต่างกับสุนัขและมนุษย์ แมวต้องการอาหารที่มีโปรตีนที่สูง มีความสามารถย่อยคาร์โบไฮเดตรได้น้อย ถ้ายังไม่ผ่านความร้อนจนสุก และยังมีความจำเป็นที่ต้องได้รับไขมัน ซึ่งให้กรดไขมันจำเป็น มีการแบ่งกรดไขมันจำเป็นออกเป็น 2 กลุ่ม คือ โอเมก้า 6 (น้ำมันจากพืช) และ โอเมก้า 3 (ถั่วเหลือง เมล็ดเฟล็ก น้ำมันปลา)  ทางด้านโอเมก้า 3 ชนิดสายยาว ได้แก่ EPA และ DHA จากน้ำมันปลาช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง และทำงานได้ปกติ มีผลต่อการลดการอักเสบ เช่น ข้อและผิวหนัง ลดภาวะการเกิดโรคไต ป้องกันการเกิดเบาหวานและมะเร็ง

 

          ด้านโปรตีน

ในอดีตมีการแนะนำให้มีการจำกัดโปรตีนในแมวสูงวัย ซึ่งมีความเชื่อเพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคไต แต่ในปัจจุบัน ไม่มีความจำเป็นการในจำกัดปริมาณโปรตีนในแมวสูงวัยที่แม้ว่าจะมีปัญหาโรคไตในระยะเริ่มต้น แต่การจำกัดปริมาณฟอสฟอรัสในอาหารร่วมกับการเสริม EPA และ DHA นั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการชะลอการพัฒนาระยะของโรคไต ในความเป็นจริงแมวต้องการโปรตีนในปริมาณที่มากในทุกช่วงอายุ ซึ่งควรคำนึงถึงคุณภาพของโปรตีนที่ได้รับ โปรตีนที่ไม่มีคุณภาพจะถูกย่อยทำให้อุจจาระนิ่มและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ตรงกันข้ามกับความเชื่อทั่วไป โปรตีนที่ได้จากพืช เช่น ข้าวโพด และ ถั่วเหลือง เป็นโปรตีนที่สามารถย่อยได้ง่าย แต่จะต้องระวังความสมดุลของกรดอะมิโนจำเป็น และโปรตีนเหล่านี้มีฟอสฟอรัสที่ต่ำ ซึ่งสามารถให้ได้ในแมวสูงวัย


          ด้านไฟเบอร์

ไฟเบอร์มีความสำคัญต่อสุขภาพของทางเดินอาหาร มีส่วนช่วยในการเคลื่อนตัวของลำไส้ แต่การให้ไฟเบอร์ในปริมาณที่สูง (มากกว่า 25%) ส่งผลให้เกิดภาวะท้องผูกได้ เมื่อได้รับไฟเบอร์จะทำให้แมวรู้สึกอิ่มและลดการนำเข้าของพลังงาน ซึ่งมีผลช่วยควบคุมน้ำหนัก ไฟเบอร์ที่สามารถเกิดการหมักได้ ซึ่งเรียกว่า พรีไบโอติก เช่น  fructo-oligosaccharides ทำให้เกิดกรดไขมันสายสั้นโดยเฉพาะ butyrate ซึ่งเป็นสารให้พลังงานแก่ลำไส้ ปริมาณไฟเบอร์ที่ควรได้รับจะอยู่ที่ 15-90 กรัม ต่อ 1000 กิโลแคลอรี่


          ด้านแร่ธาตุ

การควบคุมระดับฟอสฟอรัสมีผลทำให้การพัฒนาระยของโรคไตช้าลง ซึ่งในแมวสูงวัยมักพบว่ามีภาวะของโรคไต ระดับฟอสฟอรัสที่ควรได้รับจะอยู่ที่ 1.25-2 กรัมต่อ 1000 กิโลแคลอรี่ และควรมีสัดส่วนของแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่สมดุลกัน มีการแนะนำระดับโซเดียมในอาหาร อยู่ที่ 2.5-3 กรัมต่อ 1000 กิโลแคลอรี่ ภาวะโพแทสเซี่ยมต่ำมักพบได้บ่อยในแมวสูงวัย โดยเฉพาะในแมวที่มีโรคไตร่วมด้วย

 

          ด้านวิตามิน

ผลจากการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในร่างกายมีผลทำให้เกิดโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความชรา เช่น โรคข้ออักเสบ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคทางระบบประสาท การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจะมีส่วนช่วยลดการเกิดภาวะดังกล่าวลง อาหารเสริมที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี ลูทีน โพลี่ฟีนอล เนื่องจากร่างกายจำเป็นต้องมีการสังเคราะห์เอนไซม์ และสารตั้งต้นต่างๆในกระบวนการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้นแมวสูงวัยควรได้รับโปรตีนและธาตุอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ


          สารอาหารอื่นๆ

สารอาหารที่อาจไม่ได้จำเป็นมากแต่ควรได้รับการเพิ่มเติมในอาหารสูตรแมวสูงวัย ได้แก่ แอลคาร์นิทีน ซึ่งมีบทบาทในการนำไขมันมาใช้เป็นพลังงาน และสารอาหารในกลุ่มบำรุงและลดการอักเสบของข้อ เช่น สารสกัดจากหอยแมลงภู่เขียว กลูโคซามีน คอนดรอยติน EPA และ DHA


คำแนะนำทางโภชนาการของแมวสูงวัยที่มีสุขภาพดีจึงต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ของแมว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ร่างกายมีความเหมาะสมสำหรับการได้รับสารอาหารเพื่อลดการเกิดโรคที่เกี่ยวของกับความเสื่อมของวัย

 

Referencevsvs

Vincent Biourge and Denise Elliott. Nutritional considerations for the aging cat. Canine and Feline Nutrition - Veterinary Focus 2014; 24(3)


บทความโดย น.สพ.ชัช พลฤทธิ์

โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4
Tel : 02-119-4571-2 (สาขาสุขุมวิท 31)
Line: @vet4.suk31

 

 

 

ย้อนกลับ