ข่าวสาร

สารพิษจากองุ่นและลูกเกดที่มีผลต่อสัตว์เลี้ยง

✅สารพิษที่เกิดจากการที่สุนัขได้กินองุ่น หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากองุ่น เช่น ลูกเกด มักจะส่งผลโดยตรงทำให้เกิดปัญหาไตวายตามมา โดยมีรายงานทั้งในสุนัขเป็นส่วนใหญ่ และพบได้บ้างใน แมว และ เฟอเรท


กลไกการเกิดความเป็นพิษต่อไตยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด แต่จากฐานข้อมูลประมาณ 25 ปี พบว่าความผิดปกติมันเกิดที่ท่อไตส่วนต้น  (Proximal renal tubular) ซึ่งปริมาณที่สามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดเช่นกัน ในสุนัขน้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม ที่กินองุ่นไปประมาณ 4-5 ลูก สามารถทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

                


อาการที่สามารถพบได้ จะเริ่มหลังจากสุนัขได้กินองุ่นเข้าไปจนกระทั่งเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับไตนั้นจะใช้ระยะเวลาประมาณ 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน สุนัขอาจจะมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลวใน ระยะเวลา 6-12 ชั่วโมง หลังจากกินองุ่น หรือ ลูกเกด และอาจจะมีอาการอื่น เช่น มีภาวะอ่อนแรง เบื่ออาหาร ปวดท้อง มีภาวะขาดน้ำ กินน้ำมากกว่าปกติ มีอาการตัวสั่น


ผลจากการตรวจเลือดพบค่าไต (Creatinine) มีแนวโน้มที่สูงขึ้น และอาจมีการเพิ่มขึ้น ของค่าน้ำตาลในกระแสเลือด ค่าตับ ค่าตับอ่อน ปริมาณแคลเซียมและฟอสฟอรัสเลือดได้ หากเกิดภาวะมีปัสสาวะน้อย หรือ ไม่มีปัสสาวะเลย จากไตวาย ในระยะเวลา 24-72 ชั่วโมง จะส่งผลให้สุนัขสามารถเสียชีวิตได้ทันที


การตรวจวินิจฉัยจะต้องอาศัยจากประวัติ รวมถึงอาการทางคลินิก หรือจากสาเหตุอื่นที่ทำให้ไตวาย เช่น การได้รับสารหรือยาบางชนิด เนื่องจากไม่มีสารหรือยาสำหรับต้านพิษขององุ่นโดยเฉพาะ การรักษาจะใช้การแก้ไขภาวะต่างๆที่เกิดขึ้น โดยจะมีการกระตุ้นการอาเจียนและให้ผงถ่านสำหรับดูดซับสารพิษ (Activated charcoal) ส่วนในรายที่มีภาวะอาเจียน ซึ่งเกิดขึ้นใน 12 ชั่วโมงนั้น จำเป็นต้องได้รับสารน้ำทดแทน ภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกาย และ ดูแลการทำงานของไต


ในรายที่มีปัสสาวะน้อยจำเป็นต้องได้ยากระตุ้นให้ไตผลิตน้ำปัสสาวะ เพื่อลดการคั่งของของเสียในร่างกาย แต่สำหรับรายที่ไม่มีปัสสาวะเลย อาจจำเป็นต้องทำการฟอกไตผ่านช่องท้อง หรือ ฟอกไตผ่านหลอดเลือด ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้พยากรณ์โรคในทางที่ไม่ดี ดังนั้น เมื่อสุนัขได้กิน หรือสงสัยว่ากินองุ่น หรือ ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกิดจากองุ่น เช่นลูกเกด เจ้าของจำเป็นต้องพาสุนัขมาตรวจเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที


Reference

Sharon M. Gwaltney-Brant, Raisins and Grapes, MSD Veterinary manual, 2013

Katrina McKnight, Toxicology brief : Grape and Raisin Toxicity in Dog, Veterinary technician, 2019


บทความโดย น.สพ.ชัช พลฤทธิ์

โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4
Tel : 02-119-4571-2 (สาขาสุขุมวิท 31)
Line: @vet4.suk31

ย้อนกลับ