ข่าวสาร

อาการชักในสุนัข และแมว

เคยหรือไม่ ที่ท่านสังเกตว่าสุนัขหรือแมวที่ท่านเลี้ยงมีความผิดปกติคล้ายอาการชัก แต่ไม่มั่นใจว่าชักจริงรึเปล่า?

และถ้าหากท่านได้พาสัตว์เลี้ยงของท่านไปพบสัตวแพทย์ ท่านเคยถูกตั้งคำถามหรือไม่ว่า สัตว์เลี้ยงของท่านขณะที่ชักมีอาการอะไรบ้าง  น้องมีสติมั้ยคะเจ้าของ??


สาเหตุที่สัตวแพทย์ถามคำถามเหล่านี้เนื่องจากการจ่ายยากันชัก เป็นยาที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่ต้องทราบว่า สัตว์มีอาการชักจริงๆ เพราะหากได้เริ่มทานยากันชักไปแล้ว สัตว์เลี้ยงของท่านอาจจะต้องทานยากันชักยาวนานต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือน จนถึงปี เพราะอะไรนั้น จะกล่าวอีกทีในบทความหน้า แต่ในบทความครั้งนี้ จะนำเสนอเรื่องการสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงของท่านชักจริงๆจนต้องได้รับยาระงับชักแล้วหรือไม่


การชัก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่การชักเฉพาะจุด (focal seizure) และการชักทั่วทั้งร่างกาย (generalized seizure) แต่การชักที่มีความรุนแรง จนเจ้าของสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน นั้นคือการชักแบบทั่วร่างกาย


1.Generalized seizure : การชักทั้งตัว เป็นการชักที่มีความผิดปกติของการส่งกระแสประสาทในสมองทั่วทั้ง 2 ฝั่ง สัตว์จะมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัว  ซึ่งขณะที่ชัก “สัตว์จะไม่มีสติ” และบางครั้ง ระหว่างการชักอาจมี น้ำลายฟูมปาก ปัสสาวะ หรืออุจจาระไหลออกมา บางครั้งหากการชักยาวนานเป็นเวลาหลายนาที ซึ่งอาจทำให้สัตว์ขาดอากาศหายในระหว่างชักการได้ 


                                                            


2.Partial seizure : การชักเฉพาะจุด เป็นการชักที่เกิดจากความผิดปกติของการส่งกระแสประสาท จากจุดใดจุดหนึ่งในสมองแต่ว่าไม่กระจายไปยังสมองทั้ง 2 ฝั่ง (cerebral hemisphere) การชักลักษณะนี้ สัตว์ จะยังคงมีสติ  การชักในลักษณะนี้มีหลายรูปแบบ แต่ในสัตว์แต่ละตัวจะมีแพทเทิลการชักที่เหมือนเดิมตลอด เช่น ขากระตุกข้างเดียว, งับอากาศ, เคี้ยวปาก เป็นต้น การชักชนิดนี้ ประเมินได้ค่อนข้างยาก ต้องใช้เครื่องมือตรวจคลื่นการชักช่วยในการวินิจฉัย แต่ถ้าท่านเห็นความผิดปกติของสัตว์เลี้ยงของท่านว่าอาจมีเกณฑ์คล้ายการชักในลักษณะนี้ ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ของท่านให้หาสาเหตุของความผิดปกตินั้น เนื่องจากถ้าเกิดการชักลักษณะนี้ยาวนาน อาจนำมาสู่การชักที่รุนแรงขึ้นจนกลายเป็น การชักทั่วร่างกายได้


                                                  


การชักที่พบได้บ่อย และเป็นเหตุที่เจ้าของพาน้องหมาหรือน้องแมวมาหาสัตวแพทย์นั้น มักจะเป็นการชักแบบทั่วร่างกาย ซึ่งภาวะชักในลักษณะนี้หากปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือเกิดการชักเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ 


นอกจากนี้หากพบความผิดปกติ ที่คล้ายการชัก และพบว่าสัตว์ไม่มีสติ หากเป็นไปได้ให้ท่านถ่ายคลิปวิดีโอ เพื่อยืนยันว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีการชักเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะทำให้สัตวแพทย์สามารถตัดสินใจจ่ายยากันชักได้ทันท่วงที ไม่ต้องรอให้เกิดการชักรอบถัดมาเพื่อยืนยันว่าเกิดการชักขึ้นจริงๆ 


บทความโดย

สพ.ญ.ภณิดา เมฆโสภาวรรณกุล (หมอออย) 

โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 (24 ชั่วโมง)
Tel : 02-953-8085-6

ย้อนกลับ