การจำกัดปริมาณโปรตีนสำหรับแมวป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง

       การจำกัดปริมาณโปรตีนสำหรับแมวป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง


         โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในแมว โดยเฉพาะแมวที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มีแนวโน้มป่วยด้วยโรคนี้มากกว่า 30 % ซึ่งปัจจัยการเกิดของโรคไตเรื้อรังสามารถเกิดได้หลายหลายปัจจัยตามธรรมชาติ ซึ่งโรคไตเรื้อรังสามารถแบ่งระยะของโรคตาม International Renal Interest Society หรือ IRIS ได้ทั้งหมด 4 ระยะจากความรุนแรงน้อย ถึง มาก ขึ้นอยู่กับค่าพารามิเตอร์ที่กำหนดไว้จากค่า Creatinine, SDMA, UP/C และความดันเลือด


       การใช้อาหารในการบำบัดโรคไตเกิดขึ้นมานานมากแล้ว เนื่องจากอาหารก็เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งส่งผลต่อค่าไตเช่นกัน เนื่องจากเมื่อแมวได้รับอาหารเข้าไปในร่างกาย อาหารจะถูกย่อยจนเหลือโมเลกุลที่เล็กที่สุด จะมีทั้งสารอาหารต่างๆ และขอเสียที่เกิดขึ้นมาด้วยเช่นกัน ของเสียหรือสารบางชนิดจะถูกขับออกทางไต ซึ่งเมื่อไตสูญเสียการทำงานไป ของเสียที่ควรขับออกได้ดี จะเกิดการคั่งค้างและส่งผลต่อร่างกายตามมา


          


  •         โปรตีน เป็นสารอาหารสำคัญสำหรับแมวมากเช่นกัน เนื่องจากแมวเป็นสัตว์กินเนื้อและต้องการโปรตีนปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับสุนัขหรือสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร ปริมาณโปรตีนสำหรับแมวที่โตเต็มวัยจะอยู่ที่ 50-65 กรัม ต่อ 1000 กิโลแคลอรี่ของพลังงานที่เผาผลาญได้ หรือ ประมาณ 22-24% ของพลังงานที่เผาผลาญได้ ตามข้อกำหนดของ National Research Council (NAC) และ  Association of American Feed Control Officials (AAFCO) เมื่อแมวได้รับโปรตีนเข้าไปในร่างโปรตีนจะถูกย่อยกลายเป็นกรดอะมิโน และทุกครั้งที่กรดอะมิโนจะกลายเป็นสารประกอบตัวใดก็ตามจะมีการตัดหมู่อะมิโนออกและถูกเปลี่ยนเป็นแอมโมเนีย และยูเรียต่อไป โดยยูเรียจะถูกขับออกทางไต ซึ่งสารยูเรียนี่เองทำให้เกิดการเป็นพิษกับร่างกาย ดังนั้นเมื่อไตสูญเสียการทำงานจากภาวะโรคไตเรื้อรังจะทำให้เกิดการคั่งค้างของยูเรียสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ยูรีเมีย (Uremia) โดยปัจจุบันมีสารต่างๆมากมายกว่า 130 ชนิดที่พบว่าเป็นส่วนที่ทำให้เกิดภาวะยูรีเมียได้เช่นกัน แม้ว่าภาวะดังกล่าวเป็นผลที่เกิดมาจากโรคไตแต่ก็สามารถส่งผลเสียต่อ ระบบหัวใจ กระดูก และ ระบบประสาทได้ การจำกัดปริมาณโปรตีนจึงเป็นการลดการเกิดภาวะยูรีเมียได้โดยตรง ซึ่งส่งผลต่อคุณาภพชีวิตของสัตว์ และช่วยยืดอายุให้มีชีวิตมากขึ้นได้ แต่การจำกัดปริมาณโปรตีนที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี อาจทำให้แมวมีภาวะขาดสารอาหารประเภทโปรตีน ผอม น้ำหนักลด มวลกล้ามเนื้อหาย ส่งผลต่อสุขภาพอื่นๆตามมามากมาย ถึงแม้จะมีการจำกัดปริมาณโปรตีน แต่จำเป็นต้องคำวนวนปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับ รวมถึงประเมินคะแนนร่างกาย วัดปริมาณมวลกล้ามเนื้อ ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้


  •         การเลือกอาหารสำหรับการจำกัดปริมาณโปรตีนที่ง่ายที่สุดสำหรับเจ้าของสัตว์คืออาหารสำเร็จรูปในสูตรประกอบการรักษาโรคไต เนื่องจากมีการควบคุมระดับของโปรตีนให้ไม่ต่ำกว่าที่แนะนำ ซึ่งในอาหารประกอบการรักษาโรคไตจะมีปริมาณโปรตีนอยู่ที่ 55-95 กรัมต่อ 1000 กิโลแคลอรี่ของพลังงานที่เผาผลาญได้ มีการควบคุมระดับฟอสฟอรัส และแคลอรี่ในอาหารที่ควรได้รับต่อวัน หรือ อาจจะใช้อาหารสูตรที่เจ้าของปรุงเองเป็นอาหาร homemade แต่จะต้องมีการคำนวนปริมาณโปรตีน พลังงาน ระดับฟอสฟอรัส แร่ธาตุและวิตามิน ตามความต้องการของแมว บางบ้านอาจจะมีการให้อาหาร BARF (Bone And Raw Food) ซึ่งเป็นอาหารสดแต่จะไม่สามารถจำกัดปริมาณโปรตีนได้เนื่องจากเป็นอาหารโปรตีนสูงและมักสูงกว่า 50 % ของพลังงานที่เผาผลาญได้ ทำให้เพิ่มการเกิดภาวะยูรีเมียตามมาได้


ดังนั้นการจำกัดปริมาณโปรตีนในอาหารเป็นผลที่ดีกับแมวโรคไตเรื้อรังในระยะยาวแต่จะต้องคำนึงถึงปริมาณโปรตีนที่ต่ำที่สุดที่ควรได้รับ รวมถึงพลังงาน และต้องมีการประเมินคะแนนร่างกาย และวัดปริมาณมวลกล้ามเนื้อประกอบ เพื่อให้แมวยังคงมีสุขภาพโดยรวมที่ดีตลอดการดูแลรักษาโรคไตเรื้อรัง


บทความโดย

น.สพ.ชัช พลฤทธิ์

โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4

Tel : 02-119-4571-2 (สาขาสุขุมวิท 31)
Line: @vet4.suk31


ย้อนกลับ